You are currently viewing รักษานอนกรน มีวิธีการรักษายังไง เพราะการนอนกรนอันตรายกว่าที่คิด

รักษานอนกรน มีวิธีการรักษายังไง เพราะการนอนกรนอันตรายกว่าที่คิด

รักษานอนกรน

นอนกรนอาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่รู้ไหมว่าอาการนอนกรน (Snoring) อาจเกิดควบคู่กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea : OSA) ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วง  ๆ

นอนกรน อันตรายกว่าที่คิด

คนที่นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness) ซึ่งส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่และมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งยังมีความเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคของหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักจะกรนมากเวลานอน หรือรู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง หลังตื่นนอนมักรู้สึกง่วงนอนมาก หรือง่วงนอนตอนกลางวัน หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ

อาการนอนกรน  มี 2 ประเภท คือ

  • กรนธรรมดา (primary snoring) ไม่อันตราย เพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองมากนัก แต่จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน ทำให้นอนหลับยาก เนื่องจากเสียงดัง
  • ภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว ถ้าผู้ป่วยไม่รักษา อาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้าต้องขับรถ อาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ

การรักษานอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ

หากคุณมีโรคนี้ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรง และอาการแตกต่างกันได้มาก การรักษาจึงแตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล

1. การใส่ฟันยาง หรือ Oral Appliance

ผู้ป่วยบางราย อาจรักษาได้ผลดี ด้วยการใส่ฟันยาง  การใส่ฟันยางนี้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ และประดิษฐ์ ฟันยางให้ผู้ป่วยแต่ละคน จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับโรค เล็กน้อย และ ปานกลาง แต่ผู้ป่วยที่เป็นระดับโรครุนแรงมักไม่ได้ผลเท่าที่ควร ฟันยางนี้ จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้นโดยการ ยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้านหน้า  ปัญหาที่พบได้จากการใส่ฟันยางนี้ เช่น ปวดขากรรไกร การสบฟันเปลี่ยนไป น้ำลายไหลมาก

2. การผ่าตัด

เพื่อรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ได้ผลในบางราย เช่น การผ่าตัด ต่อมทอนซิลและอะดินอยู่ในเด็ก จะสามารถช่วยเด็กได้มาก แต่ในผู้ใหญ่ควรพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ที่เหมาะสม

การผ่าตัดจมูก

เช่น แก้ไขจมูกคด หรือ จี้ เยื่อบุ โพรงจมูกที่บวม จะช่วยลดอาการคัดจมูกหรือกรนได้บ้าง แต่มักไม่ช่วยทำให้โรคหายได้ จึงมักเป็นการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น

รักษานอนกรน ทำอย่างไร

การผ่าตัดในระดับลิ้นไก่ เพดานอ่อน

ได้ผลดีในครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ทาง หู คอ จมูก ก่อนว่า ผู้ป่วยรายนั้นเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดนี้ เช่น พูดไม่ชัด สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น

การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร 

ซึ่งก็อาจได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระดับลิ้นไก่อย่างเดียว แต่ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า  โดยมากการผ่าตัดมักจะทำให้เสียงกรนดีขึ้น แต่อาจยังไม่สามารถ รักษาให้การหยุดหายใจขณะหลับหายไปได้หมด จึงควรติดตามอาการ และตรวจการนอนหลับซ้ำในห้องปฏิบัติการภายหลังได้รับการผ่าตัดแล้วระยะหนึ่ง

3.การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (Non-surgical treatment)

  • ลดน้ำหนัก เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน การลดน้ำหนักถือว่าเป็นวิธีที่ดี
  • การปรับเปลี่ยนท่าทางการนอน เช่น ไม่ควรนอนหงาย เนื่องจากจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าการนอนตะแคง
  • หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ชนิดที่ทำให้ง่วง โดยเฉพาะก่อนนอน
  • การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับที่เรียกว่า Continuous positive airway pressure (CPAP) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรง และไม่เหมาะที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ เพราะยานอนหลับ กดการหายใจทำให้ กรนมากขึ้น และโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ จะเป็นมากขึ้น หากผู้ป่วยมีนอนไม่หลับร่วมด้วยจะ ควรปรึกษาแพทย์ มากกว่า
  • พยายามนอนตะแคง อาการจะน้อยกว่านอนหงาย